COLUMNIST

NIA เดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยี Gasification คอขวดอยู่ที่ผู้รู้ไม่ร่วมกันพัฒนา
POSTED ON -


 

การนำชีวมวลซึ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาผลิตพลังงานสะอาดที่นิยมใช้กันอยู่คือ (1) การหมักแบบไร้อากาศ (Biogas) และ (2) การใช้กระบวนการทางความร้อน (Thermal Process)

 

เทคโนโลยี Gasification เป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่ใช้กระบวนการทางความร้อน เพื่อผลิตพลังงานจากชีวมวล ในอดีตอาจคิดว่าต้นทุนแสนแพง แต่เมื่อพลังงานมีน้อย หายาก และราคาแพงขึ้น ถนนทุกสายจากผู้นำเทคโนโลยีทั่วโลกมุ่งสู่การพัฒนา Gasification รวมทั้งคนไทย ซึ่งโดยปกติเป็นลูกค้าที่แสนดีของเกือบทุกๆ เทคโนโลยีก็หันมาพัฒนาเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศพัฒนาแล้วด้วยเหมือนกัน

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. (National Innovation Agency (Public Organization) : NIA) ซึ่งชื่อองค์กรก็บอกแล้วว่าจะทำอะไรที่ใหม่และมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ได้จับมือกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. สนับสนุนให้ภาคเอกชนผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากชีวมวลหลากหลายชนิด เพื่อใช้เป็นโครงการนำร่องในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจำนวน 4 โครงการ และผลิตพลังงานความร้อน จำนวน 8 โครงการ

 

ปัจจุบันโครงการต่างๆ ใกล้จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว หลังจากฝ่าฟันการขอใบอนุญาตมาแรมปี อันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนเป็นงานวิจัย โดยผู้รับทุนไม่มีส่วนร่วมลงทุน จึงยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังมีกลุ่มภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่งที่ลงทุนในเทคโนโลยีนี้เอง และไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ประเทศไทยจึงเป็นแดนสนธยาด้านเทคโนโลยี Gasification มาจนกระทั่ง สนช. จับมือกับ สนพ. วันนี้ท่านขอข้อมูลเชิงลึกได้ทุกรูปแบบ จากการที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าว

 

 

ทั้งนี้ พอสรุปได้ว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยี Gasification ในประเทศไทย ก็คือ ผู้รู้ทั้งหลายทั้งรู้จริงและรู้ไม่ค่อยจริงต่างหวงความรู้และไม่มีการเปิดเผย ต่างคนต่างพัฒนา ใครเข้าถึงงบประมาณรัฐได้ก็มีโอกาสพัฒนาได้มากกว่า ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วยังไม่อาจไปสู่เชิงพาณิชย์ได้เต็มตัวนัก สังเกตจากการประเมินของภาคการเงินอย่างเช่นธนาคารต่างๆ ยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีของคนไทย การให้กู้จึงต้องใช้หลักประกันสูง

 

เพื่อให้เห็นภาพเชิงธุรกิจของเทคโนโลยี Gasification ในระดับโลกจะขอยกตัวอย่างบริษัทหนึ่งที่ทาง The U.S. Trade and Development Agency : USTDA ได้นำชาวอาเซียนไปดูงาน และที่น่าสนใจ ก็คือ สอดคล้องกับเทคโนโลยีชุมชนของไทยเรา โดยทางบริษัทที่กล่าวถึงนี้ พร้อมจะให้ผลิตในประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางส่งออกในภาคพื้นนี้

 

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเบื้องต้นทั้งของไทยและของต่างประเทศนี้จะสามารถเป็น Benchmark ให้กับนักประดิษฐ์ไทย จะเห็นได้ว่าคนไทยก็ทำได้ แต่ขายไม่ค่อยได้ เรายังขาด Branding ที่น่าเชื่อถือ คงต้องเริ่มสร้างความน่าเชื่อถือกับสถาบันการเงินก่อน หากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจะลองเดินหน้าสร้างแบรนด์ให้กับ Gasification ชนิดคุณภาพไทยทำ หรือร่วมกับต่างประเทศผลิตในประเทศไทยก็ได้ ให้คนซื้อยอมรับและธนาคารยอมปล่อยสินเชื่อเท่านี้ก็เป็นนวัตกรรมแล้ว